น้องฉัน..^^

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

เคล็ดลับ ผิวสวยด้วยชาเขียว

น้ำชาเขียว

ณ ปัจจุบันชาเขียวเรียกได้ว่าได้รับการตอบอย่างดีจากกลุ่มบุคคลหลากหลายวัยเพราะประโยชน์ของชาเขียวไม่ใช่เพียงแค่ดื่มกินแต่เพียงอย่างเดียว ประโยชน์ของชาเขียว ยังช่วยในเรื่องของผิวพรรณและความงามได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งถ้าคุณผู้หญิงรู้จักที่จะนำ ประโยชน์ของชาเขียว มาใช้อย่างถูกวิธีล่ะก็คุณย่อมได้ ประโยชน์ของชาเขียว ถึง 2 ต่อด้วยกัน ต่อที่ 1 ในเรื่องของสุขภาพที่ ต่อที่ 2 ได้ผิวพรรณที่สวยงามกลับไปเป็นรางวัลให้กับตัวคุณเองค่ะ และวันนี้เราก็มี เคล็ดลับ "ผิวสวย" ด้วย "ประโยชน์ของชาเขียว" มาฝากกันอีกด้วยค่ะ นั้นเรามาดูกันเลย

ประโยชน์ของชาเขียว "ผิวสวย"


ชาเขียวประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (อนุมูลอิสระเป็นสาเหตุหลักของเซลล์เสื่อมสภาพก่อนวัย) ชาเขียวโดดเด่นด้านสารต้านอนุมูลอิสระยิ่งกว่าชาจีน จากการศึกษาพบว่า ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ภายใน 30 นาทีหลังจากดื่มชาจีนอุ่นๆ และสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้จะยิ่งคงประสิทธิภาพไปอีก 50 นาทีก่อนจะเข้าสู่ระดับปกติ จึงเริ่มมีการแนะนำให้ดื่มชาเพื่อหวังผลด้านชะลอภาวะแก่ก่อนวัยของเซลล์ในร่างกายและใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงเพื่อหวังผลด้านสลายอนุมูลอิสระ คุณเองก็สามารถนำชามาช่วยดูแลผิว 

- ริมฝีปากลอก


ใช้ถุงชาที่ยังอุ่นจางๆ จากการแช่น้ำร้อน เช็ดริมฝีปากที่ลอกเป็นขุย ทาลิปสติกแล้วไม่เรียบเนียนผิวที่เป็นขุยจะหลุดออกอย่างง่ายดาย


- กำจัดผิวหมอง


ส่วนผสมชาเขียว 1 ช้อนชา กลีบดอกดาวเรือง 1 ช้อนชา ขมิ้นชัน 1/2 ช้อนชา ตะไคร้ 1/2 ช้อนชา นำส่วนผสมทั้งหมดปั่นให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำมันงา 2 ช้อนชา ทาพอกผิวทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาทีแล้ว ค่อยขัดออกเบาๆ ก่อนอาบน้ำ ใช้พอกผิวกายอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง


ประโยชน์ของชาเขียว


- แช่เท้าในน้ำชา


วันไหนรู้สึกเดินจนล้าไปทั้งฝ่าเท้าตักชาเขียว 4 ช้อนโต๊ะหรือจะโยนชาเขียว 5 ซองชงก็ได้ลงในน้ำร้อนทิ้งไว้ให้ชาละลาย 10 นาที ก่อนแช่เท้าลงในน้ำที่กำลังอุ่น 15 นาที เป็นช่วงที่รู้สึกสบายที่สุด ชาจะทำหน้าที่คล้ายโลชั่นกระชับและทำความสะอาดเท้าพร้อมทั้งระงับกลิ่น (บางคนนอนแช่น้ำชาเพื่อระงับกลิ่นตัว)

จากนั้นโยนใบสะระแหน่สุดๆ ลงในน้ำที่แช่เท้า ขยี้ใบสะระแหน่ตามนิ้วเท้ายกเท้าขึ้นจากน้ำแล้วห่อด้วยผ้าเช็ดตัวอุ่นๆ (ที่คุณใช้ไดร์ร้อนเป่าไว้) คืนนั้นคุณจะหลักสบาย


- ปลอบผิวแดดเผา


ผิวตากแดดนานๆ รู้สึกผิวร้อนผ่าวอย่าเพิ่งลงครีมบำรุงผิวเนื้อข้นๆ ขณะนั้นผิวต้องการระบายความร้อนที่ได้รับออก ครีมบำรุงจะไปปิดผิวไม่ให้ความร้อนในเซลล์ระบายออกไม่ต่างอะไรกับอบผิวในเตาอบ

ผสมข้าวโอ๊ตบด 1 ถ้วยลงในน้ำชาเขียวร้อนๆ 1 ถ้วย กับแตงกวาสับละเอียด (ส่วนผสมจะช่วยระงับอาการแดงและอักเสบ) เติมน้ำผึ้งลง 4 ช้อนโต๊ะเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้นแช่ส่วนผสมดังกล่าวในตู้เย็น 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาทาผิวที่ถูกแดดเผาคลุมด้วยผ้าชุบน้ำเย็นๆ 10 นาทีแล้วล้างออก



มาจาก : http://www.n3k.in.th

การปักครอสติช



 1.เช็คจุดกึ่งกลางผ้าและจุดกึ่งกลางลายให้ตรงกัน ตรงนี้ต้องขอเน้นหน่อยนะคะ ว่าต้องตรวจสอบให้ดีก่อนลงมือปักทุกครั้งค่ะ เพราะถ้าเริ่มต้นผิดจะมีผลต่อลายปักได้ค่ะ
        2. เริ่มต้นปักโดยสอดไหมเก็บปลายไว้ทางด้านหลังของผืนลาย ยาวประมาณ 1 ซม. ดังรูป โดยไม่ต้องมัดปม แล้วค่อยสอดเข็มผ่านขึ้นไปด้านหน้าของผ้า เพื่อเริ่มต้นการปัก โดยปักตามแบบในผังลาย
 
        3. การปักต้องปักไขว้ไปทางเดียวกัน ดูวิธีปักตามรูปข้างล่างนี้นะคะ
สำหรับการปักช่องเดียว
  สำหรับการปักต่อกันหลาย ๆ ช่อง
เมื่อปักเสร็จแล้วด้านหลังงานปักจะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย เหมือนรูปนี้นะคะ

4.เมื่อปักเสร็จแล้วส่วนปลายไหมปักให้สอดเก็บไว้ทางด้านหลัง เหมือนรูปข้าง ๆ นี้ค่ะ โดยเหลือปลายไหมไว้ประมาณ 1 ซม.เหมือนกับตอนเริ่มปักค่ะ และคงจะยังจำกันได้นะคะว่า ห้ามผูกปมไหมเด็ดขาดค่ะ
5. การปักเดินเส้น ส่วนใหญ่จะใช้ไหมน้อยกว่าตอนปักไขว้ 1 เส้นนะคะ ลำดับขั้นของการปักเหมือนรูปข้างล่างนี้ค่ะ
      6. การปักปมฝรั่งเศส ยากที่จะอธิบายด้วยคำพูดนะคะ ดูรูปแล้วทำตามเลยก็แล้วกันนะคะ





กระเป๋าโครเช

    ตัวกระเป๋า 1. เริ่มที่การถักโซ่ธรรมดาค่ะ  ถักไปยาวๆ เลยให้ได้ความยาวของกระเป๋าเท่าที่ต้องการ เสร็จแล้วถักวกกลับค่ะ ในการถักวกกลับนี้เราจะถักโดยใช้โค๊ต F ถักไปจนสุดแถว เราจะได้ก้นกระเป๋าฐานที่ 1 2. เมื่อถักวกกลับมาจนสุดแล้ว  ให้ถักโซ่ขึ้นไป 3 โซค่ะ  เพราะเราจะถักกระเป๋าใบนี้แบบจบแถว 3. เมื่อถักโซ่ขึ้นไปแล้ว 3 โซ่ ให้ทำการถักโค๊ต V โดยการใช้ โค๊ต F ถัก (2F ในหนึ่งช่อง) ถักครอบไปที่ตัว F สุดท้ายของฐาน 1 ที่เราได้ถักจบไปแล้ว ถักไปเลย  4V ทีนี้แถวมันจะแน่นๆ หน่อย ช่างมันค่ะ 4. เมื่อได้ 4V มันจะวนมาถึงช่องแรกของฐาน 1 ตอนนี้ก็ถัก F ไปเรื่อยๆ จนสุด แถวค่ะ 5. เมื่อสุดแถว เราถัก 4V ที่หัวมุมของฐาน 1 อีกครั้ง แล้วต่อด้วย F กลับมาจนสุดแถว 6. เมื่อสุดแถว จะมาจบที่ 3 โซ่ที่เราถักขึ้นไปตอนแรก ตอนนี้ทำการจบแถวค่ะ 7. ทำการขึ้นโซ่ 3 โซ่ แล้ววกกลับไปที่ด้านหัวมุม ถ้าอยากให้กระเป๋ากว้างขึ้น ให้เพิ่มเป็น 8V แต่ถ้าไม่อยากให้กว้างขึ้น ก็ถักเป็น F ไปให้รอบค่ะ พอจบแถว ก็ขึ้นแถวใหม่ ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนได้ ความสูงของกระเป๋าที่ต้องการ 8. จบส่วนของตัวกระเป๋า  แต่อย่าพึ่งตัดไหมนะค่ะ
    ฝากระเป๋า 1. หลังจากที่จบส่วนของตัวกระเป๋า  ทีนี้เราจะมาทำฝาปิดกระเป๋ากันค่ะ (ถ้าขี้เกียจจะไม่ทำก็ได้นะค่ะ ก็ตัดไหมจบงานได้เลย) 2. ขึ้นโซ่ไป 3 โซ่จากไหมเส้นเดิมค่ะ แต่เราจะไม่ถักวนแล้ว เราจะพลิกด้านแล้วถักย้อนกลับไปทางเดิมค่ะ ถักไปให้สุดแถว แต่...ไม่วนรอบนะค่ะ  (อ้อมไม่สามารถบอกได้ว่า ต้องถักไปกี่ห่วง เพราะขนาดของกระเป๋าที่แต่ละคนทำคงไม่เท่ากัน ให้ใช้การกะ และคาดคะเนเอาค่ะ) 3. เราจะได้ฝากระเป๋าแถวที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นก็ขึ้นโซ่ไปอีก 3 โซ่ ถักย้อนกลับไปที่เดิมค่ะ 4. เราจะถักไปแบบนี้เรื่อยๆ ระหว่างที่ถัก ก็ลองวัดดูด้วยว่า ฝากระเป๋ายาวพอที่จะมาปิดปากกระเป๋าหรือยัง ใช้วิธีกะเอาล้วนๆ ค่ะ ของอ้อมนี่ จะอยู่ที่ราวๆ 4-5 แถว กะดูด้วย ว่าถ้าเวลาเราใส่ของเข้าไป กระเป๋าจะโป่งขึ้นด้วยนะ 5. หลังจากนั้น เราจะเริ่มการทำให้ขอบของฝากระเป๋ามนค่ะ  โดยการที่เมื่อเราเริ่มขึ้นแถวใหม่ เราจะไม่เริ่มด้วย F แต่เราจะเริ่มด้วย A คือ การลดห่วงของงานนั่นเอง (ถัก A โดยใช้โค๊ต F เหมือนเดิมนะค่ะ กระเป๋าใบนี้ถักด้วย F ล้วนๆ  ป้องกันการสับสนกับการถักตุ๊กตา)
    6. เราจะถักโค๊ต A เฉพาะ 2 ห่วงแรก กับ 2 ห่วงสุดท้ายเท่านั้น  ถักไปอย่างนี้เริ่อยๆ จนได้ความยาวที่ต้องการค่ะ 7. ที่เห็นในรูป อ้อมใส่ลูกปัดไม้ เอาไว้สำหรับปิดกระเป๋าด้วย  ดังนั้น 1 แถว ก่อนแถวสุดท้าย เมื่อเราถัก F มาถึงช่วงประมาณกลางๆ กระเป๋า ให้เราเว้นช่องค่ะ โดยการถักโซ่ไป 5 โซ่ แล้วนับข้ามห่วงไป 5 ห่วงเช่นกัน หลังจากนั้นถัก F ต่อ เราก็จะได้ช่องเอาไว้ใส่ลูกปัดล็อคกระเป๋าแล้วค่ะ 8. ในแถวสุดท้าย เริ่มต้นด้วย A แล้วต่อด้วย F ไปจนตลอดแถว แต่อย่างลืม จบแถวด้วย A อีกนะค่ะ 9. เท่านี้ก็จะเสร็จเป็นตัวกระเป๋าและฝาปิดแล้วค่ะ

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

กลยุทธ์การบริหารความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารในองค์กร

ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั่นย่อมมีโอกาสในการพัฒนา แต่ถ้าที่ใดมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ที่นั่นเปรียบกับสมรภูมิรบที่จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในที่สุด
จากคำกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งเชิงบวกและลบ  ความขัดแย้งในระดับที่พอเหมาะจะช่วยให้เกิดความคิดเห็นใหม่ แต่ถ้ามีความขัดแย้งกันมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน

ลองนึกภาพดูว่าถ้าองค์การใดองค์การหนึ่งไม่เคยมีความขัดแย้งกันเลยแม้กระทั่งความคิดเห็น ใครเสนออะไรผู้บริหารคนที่เหลือในห้องประชุมเห็นด้วยและคล้อยตามกันหมด หรือองค์การที่มีผู้นำที่มีอำนาจและบารมีสูงมากอยู่คนหนึ่งที่ทุกคนในห้องประชุมเกรงใจ (ทั้งๆที่คนๆนั้นไม่ใช่กรรมการผู้จัดการหรือซีอีโอเป็นเพียงผู้บริหารงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น)  พูดอะไรทำอะไรออกมาทุกคนเชื่อหมดไม่มีใครกล้าเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง ท่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับองค์การลักษณะนี้   

เราจะต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งนั่นก็คือ คนเกิดมาบนพื้นฐานของความแตกต่างทั้งรูปลักษณ์ นามลักษณ์(ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ) และเบื้องหลังการถ่ายทำของชีวิตแต่ละคน (สถานะครอบครัว สถานะทางการเงิน การศึกษา ฯลฯ)  นอกจากนี้ ถ้าเป็นองค์การก็ต้องยอมรับความจริงเพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่งคือ การทำงานของแต่ละสายงานย่อมมีความขัดแย้งกันโดยลักษณะงานอยู่แล้ว เช่น ฝ่ายผลิตกับฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายตรวจสอบระบบภายในกับทุกหน่วยงาน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไป และเป็นกลไกที่จะช่วยให้ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนมั่นใจได้ว่าองค์กรสามารถดูแลและรักษาผลประโยชน์ให้กับเขาได้อย่างเต็มที่ 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์การมีตั้งแต่ระดับพนักงานจนถึงระดับผู้บริหาร มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆกระจุ๋มกระจิ๋ม ขี้หมูราขี้หมาแห้งไปจนถึงเรื่องสำคัญๆต่อความอยู่รอดขององค์การ มีตั้งแต่ความขัดแย้งทางความคิดส่วนบุคคล จนไปถึงความขัดแย้งระดับหน่วยงานหรือกลุ่มย่อยๆในองค์การ  

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะห้ามไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในองค์การ แต่องค์การยังมีทางออกและทางเลือกที่จะช่วยให้ความขัดแย้งอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นพลังได้ ทางเลือกที่ว่านี้ก็คือ การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management)”  

ปัญหาความขัดแย้งในองค์การในระดับพนักงานหรือหน่วยงานย่อย ไม่ค่อยยุ่งยากมากนัก เพราะมีผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาอยู่หลายคนหลายระดับ แต่ปัญหาความขัดแย้งที่ถือเป็นปัญหาใหญ่และเป็นที่หนักใจของผู้บริหารระดับสูงของหลายๆองค์การในปัจจุบันคือ ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารในองค์การที่มีตำแหน่งรองๆลงมาจากผู้บริหารระดับสูง เช่น ความขัดแย้งระหว่างรองประธานกรรมการบริหาร(Vice President) หรือระหว่างผู้อำนวยการฝ่าย (Director) ต่างๆ เพราะผู้ที่ขัดแย้งกันไม่ใช่เด็กๆ แต่ละคนล้วนแล้วแต่เขี้ยวลากดิน และจะแก้ไขปัญหาโดยการปลดออกเหมือนพนักงานระดับปฏิบัติก็คงจะยาก เพราะการปลดผู้บริหารคนใดคนหนึ่งออกอาจจะส่งผลกระทบต่อองค์การอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารบางคนที่กุมความลับของบริษัทไว้มาก มีลูกค้าอยู่ในมือ หรือมีเส้นสายเชื่อมต่อกับผู้ถือหุ้นใหญ่ เผลอๆปลดออกก็อาจจะไม่ยอมออกก็ได้ เพราะมีอำนาจต่อรองสูง จึงทำให้ผู้บริหารระดับสูงเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะไม่สามารถตัดใครออกได้ และไม่สามารถเรียกคู่กรณีมานั่งจับมือกันได้เหมือนกับเด็กที่ทะเลาะกัน  

ในฐานะที่ผมเคยอยู่ เคยเห็น และเคยได้ยินเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างผู้บริหารขององค์การต่างๆ ประกอบกับเคยได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งให้กับองค์การต่างๆมาบ้าง จะขอนำเสนอแนวคิดและแนวทางในการบริหารความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารในองค์การดังนี้  

อย่าอินไปกับตัวของปัญหา แต่จงหาสาเหตุ 
อยากให้ผู้บริหารระดับสูงจงมองว่าไม่ว่าปัญหาของคนระดับไหน ย่อมจะมีรูปแบบของความขัดแย้งที่ไม่แตกต่างกัน เช่น ขัดแย้งกันเรื่องความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ ความเชื่อ ขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ หรือขัดแย้งกันเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริง เมื่อได้ทราบแล้วว่าผู้บริหารแต่ละคู่แต่ละกลุ่มที่ขัดแย้งกันนั้นมีรูปแบบการขัดแย้งกันแบบไหน ก็ค่อยเจาะลึกลงไปดูต่อว่าสาเหตุหรือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่แท้จริงนั้นเกิดจากอะไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่  เช่น ผู้บริหารหลายคนขัดแย้งกันเพราะอีกคนหนึ่งเข้ามาทีหลัง ได้ผลประโยชน์สูงกว่า ดีกว่าตัวเองที่อยู่มานานกว่า อายุมากกว่า (รับไม่ได้) ซึ่งถ้าวิเคราะห์กันจริงๆแล้วจะพบว่าสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งไม่ได้มาจากนิสัยส่วนบุคคล แต่มาจากระบบการจ่ายผลตอบแทนขององค์การ ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่มีระบบการสื่อสารที่ดีพอ  ดังนั้น เมื่อไม่ชอบตรงที่เขาได้ผลตอบแทนสูงกว่าแล้ว ก็พาลไปถึงเรื่องความขัดแย้งในเรื่องงาน ขัดแย้งระหว่างหน่วยงานได้เหมือนกัน  

เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้แล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากต่อการเลือกหรือกำหนดมาตรการในการแก้ไข  เช่น ถ้ามีผู้จัดการคนหนึ่งมีรถประจำตำแหน่ง(ไม่ทราบว่าเพราะอะไร เป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว) ในขณะที่ผู้จัดการในระดับเดียวกันอีกหลายคนไม่มี  วิธีการที่บางองค์การนำมาใช้คือถ้าผู้จัดการคนที่ได้รถประจำตำแหน่งนั้นมีความสามารถเพียงพอก็เลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นไปอยู่ในระดับที่มีรถประจำตำแหน่งก็จบ หรือไม่ก็ต้องยึดรถคืน แต่ถ้าทำอย่างมืออาชีพคือการเสนอทางเลือกให้หลายๆทางเช่น จ่ายเงินชดเชยค่ารถประจำตำแหน่งให้เป็นเงินช่วยเหลือก้อนหนึ่ง หรือจะรวมกับเงินเดือน(แต่ต้องทอนให้น้อยลงก่อนนะครับ) เพราะคนบางคนมีรถส่วนตัวอยู่แล้ว ถ้าได้เงินก็อาจจะอยากขับรถส่วนตัวมากกว่ารถประจำตำแหน่ง ในขณะเดียวกัน การจ่ายเงินชดเชยนั้นจะมีข้อดีตรงที่ว่าถึงแม้ผู้จัดการคนอื่นจะรู้สึกไม่ดีอยู่ก็น่าจะดีกว่าการที่ผู้จัดการคนอื่นๆ เห็นผู้จัดการคนนั้นขับรถประจำตำแหน่งมาเสียดแทงใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนะครับ จงเชื่อว่าคนไทยลืมง่ายนะครับ ถ้าไม่มีหลักฐานมาปรากฏให้เห็นอยู่กับตา  

ยุให้แตก แล้วค่อยประสาน 
ความขัดแย้งของผู้บริหารบางคู่บางกลุ่ม เข้าลักษณะเหมือน ยิ่งห้าม เหมือนยิ่งยุ เพราะถือว่าผู้บริหารเบอร์หนึ่งจะลงมาห้ามอยู่ประจำ ทะเลาะกันไปเดี๋ยวก็มาคนมาห้ามเอง ผมแนะนำว่าบางครั้งต้องปล่อยให้ทะเลาะกันให้เข็ด ทะเลาะกันจนแย่ก่อนแล้วค่อยลงไปช่วย อาจจะได้ผลเหมือนกันนะครับ เพราะถ้ายังไม่เห็นความเจ็บปวด ยังไม่เห็นความเสียหายขององค์การ ความขัดแย้งก็อาจจะยังคงมีอยู่ต่อไป บางครั้งผู้บริหารอาจจะต้องทำตัวเป็นบางช่างยุเสียบ้าง อาจจะยุเองหรือยุผ่านตัวกลางก็ได้ จนถึงจุดวิกฤติแล้วค่อยเป็นพระเอกขี่ม้าขาวไปช่วย น่าจะดูดีกว่านะครับ  

ใช้สถานการณ์เป็นเครื่องมือ 
ผู้บริหารบางคนขัดแย้งกันเพราะเพียงเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย เช่น ทะเลาะกันเรื่องลูกน้อง แต่ด้วยศักดิ์และศรี(ทั้งๆที่กินไม่ได้) ก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมก้มหัวให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ความหมางเมินที่เกิดขึ้นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ พอฟอร์มกันไปนานๆก็กลายเป็นความหมางเมินถาวร และถ้าความสัมพันธ์ของผู้บริหารสองคนนี้เปรียบเสมือนเส้นดายที่เชื่อมต่อกันเพียงเส้นเดียวแล้ว เมื่อมีความขัดแย้งกันในงานเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เส้นด้ายที่เหลืออยู่เพียงเส้นเดียว(ไม่เกลียดแต่เฉยๆ) อาจจะขาดลงได้ และทั้งสอยฝ่ายก็จะกลายเป็นคนละฝั่งคนด้านคนละขั้วไปทันที ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะยากต่อการเชื่อมต่อ  

วิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหาร บางครั้งจะต้องรอจังหวะ หรือเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาช่วย เพราะทำงานอยู่ดีๆ กรรมการผู้จัดการจะเรียกทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีไปให้มาคืนดีกันคงจะไม่ได้ บางองค์การอาศัยเหตุการณ์ตอนไปทำวอคแเรลลี่ จับทั้งคู่นอนด้วยกัน จับทั้งคู่ทำกิจกรรมร่วมกัน วิธีนี้ก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างก็ต้องประเมินกันเอาเองนะครับ เพราะบางคู่พอรู้ว่าถูกจับคู่ให้อยู่ด้วยกัน ก็อาจจะมีบางคนหนีกลับบ้านไปเลย หรือบางคู่อาจจะยิ่งมีเรื่องทะเลาะกันมากขึ้นก็ได้ สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำคือการอาศัยจังหวะที่คู่กรณีคนใดคนหนึ่งประสบความยากลำบากในชีวิต เช่น สูญเสียบุคคลที่รัก เจ็บป่วย ฯลฯ แล้วเราในฐานะผู้บริหารในระดับสูงอาจจะชวนกรณีไปเยี่ยม ไปร่วมงานศพญาติของอีกคนหนึ่ง หรืออาจจะมอบหมายให้กรณีไปเป็นตัวแทนบริษัททำหน้าที่แทนผู้บริหารระดับสูงก็ได้ เราต้องไม่ลืมว่าคนจะเปิดใจรับสิ่งต่างๆก็ต่อเมื่อชีวิตตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ในขณะเดียวกันคนเราจะลดทิฐิก็ต่อเมื่อเห็นผู้อื่นลำบากไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจ  

เทคนิคการสลายพลัง 
บางครั้งความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารเพียงสองคนอาจจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างทีมผู้บริหารกับคนบางคนหรือระหว่างสองทีมขึ้นไป พูดง่ายๆคือใครทีขัดแย้งกับคนอื่นก็มักจะหาพวกมาอยู่ฝ่ายเดียวกับตนเองให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ตัวเองดูดี ใครที่เป็นหัวเดียวกระเทียมลีบก็แย่หน่อย เช่น ผู้บริหารสายโรงงานรวมหัวกันไม่ชอบผู้บริหารของสายงานบัญชี  เวลาอยู่ในห้องประชุมผู้บริหารสายงานบัญชีก็มักจะโดนรุมสกรัมทางคำพูดอยู่คนเดียว  

วิธีการหรือแนวทางในการบริหารความขัดแย้งอย่างหนึ่งที่อาจจะนำมาใช้ได้ผลกับกรณีที่มีความขัดแย้งเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มคือ การสลายพลังความขัดแย้งจากคนแต่ละคน โดยเริ่มจากคนที่ไม่ได้ขัดแย้งแต่ทำตัวอยู่ฝ่ายเดียวกับอีกฝ่ายหนึ่ง ถือเป็นยุทธการการรบแบบกองโจร เช่น ชวนผู้บริหารที่เป็นสมาชิกของอีกฝ่ายหนึ่งไปทำงานต่างจังหวัด ทานข้าว ประชุมกับชาวต่างชาติ ฯลฯ ร่วมกับผู้บริหารอีกฝ่ายหนึ่ง (กรุณานำมาครั้งคนนะครับ อย่านำมานั่งพร้อมๆกันหลายๆคนเพราะจะห้ามพลังกลุ่มไม่ไหว) ทำให้ทั้งสองคนซึ่งไม่ได้เป็นคู่อริโดยตรงเริ่มมีการพูดคุยร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริหารที่เป็นสมาชิกของอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มยอมรับผู้บริหารฝ่ายตรงกันข้ามมากยิ่งขึ้น ใช้วิธีนี้ค่อยๆเก็บไปทีละคนๆ สุดท้ายพลังร่วมของความขัดแย้งก็จะถูกสลายให้เหลือน้อยลงได้ครับ  

ทำหน้าที่เป็นเบรกเมื่ออุณหภูมิเริ่มสูง 
ความขัดแข้งบางเรื่องบางกลุ่มบุคคลเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้เห็นมุมมองในเรื่องเดียวกันทั้งสองด้านเสมอ (เพราะคู่กรณีมักจะพยายามมองคนละด้านกับอีกฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว) ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่เพียงคอยแตะเบรคในกรณีที่เริ่มมีความรุนแรงของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่วนความขัดแย้งในระดับปกติก็ปล่อยไปให้เป็นธรรมชาติของมันเอง ที่ประชุมจะได้มีรสชาติมากขึ้น ครั้งนี้อาจจะเห็นด้วยกับความคิดของฝ่ายหนึ่ง ครั้งต่อไปก็อาจจะเห็นด้วยกับความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้ก็อยู่กันได้นาน  

ยืมมือที่สาม 
บางครั้งผู้บริหารซึ่งถือเป็นคนในครอบครัวเดียวกันจะขาดความน่าเชื่อถือจากคู่กรณี เพราะแต่ละฝ่ายก็มักจะคิดว่าผู้บริหารระดับสูงเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ผู้บริหารอาจจะต้องขอยืมมือบุคคลภายนอกที่เราเรียกว่าเป็นที่ปรึกษาให้เข้ามาช่วยบริหารความขัดแย้งแทนก็ได้ เนื่องจากคนภายนอกไม่รู้ว่าใครขัดแย้งกับใคร ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับทั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน คู่กรณีก็อาจจะไว้ใจมากกว่า ที่ปรึกษาที่ว่านี้ถ้าเป็นนักจิตวิทยาได้ยิ่งดีหรือที่ปรึกษาที่มีจิตวิทยาสูงหน่อยก็จะได้ผลมากยิ่งขึ้น เพราะแรกๆทั้งสองฝ่ายก็จะสาดโคลนใส่กันผ่านบุคคลที่สาม เมื่อโคลนหมดก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะโน้มน้าวให้ทั้งคู่หันหน้าเข้าหากันมากขึ้น ข้อดีของที่ปรึกษาคือไม่ได้อยู่ในองค์การตลอดเวลาจึงไม่มีโอกาสสร้างผลกระทบเชิงลบต่อคู่กรณีได้ ดังนั้น ที่ปรึกษาจึงมีแต่คะแนนบวกอยู่ในใจของทั้งสองฝ่าย  

ทำการตลาดกับคนรอบข้าง 
การบริหารผู้บริหารบางครั้งบางคนทำได้ยาก เพราะคนเหล่านี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากจนไม่สามารถใช้กลยุทธ์ใดๆจัดการกับเขาได้เลย แต่ต้องไม่ลืมว่าคนเราทุกคนย่อมมีจุดอ่อนในชีวิต ในเมื่อหาจุดอ่อนในชีวิตการทำงานไม่เจอ ก็ต้องขยายวงกว้างออกไปหาจุดอ่อนที่คนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัว ผู้บริหารบางคนรักลูกมาก บางคนรักคู่สมรสมาก บางคนรักบุพการีมาก บางคนกลัวภรรยา(ผู้บริหารสุภาพบุรุษเฉพาะในที่ทำงาน)   

เราจะเห็นว่าสินค้าบางตัวไม่ได้ยิงโฆษณาโดยตรงไปที่ตัวสินค้าหรือตัวลูกค้า แต่เป็นการสร้างกระแสตลาด เป็นการสร้างค่านิยมของคนรอบข้าง อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นการทำการตลาดแบบกระทบชิ่ง โดยใช้กระแสเป็นตัวสร้างความอยากให้กับลูกค้าเพื่อวิ่งมาหาสินค้าตัวนั้นๆ เช่น โฆษณาว่าสมุนไพรดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ โดยที่ไม่ต้องบอกเลยว่าบริษัทเราขายสมุนไพรอะไร แต่ถ้าคนมีความห่วงใยตัวเองมากขึ้น เห็นความสำคัญของสมุนไพรมากขึ้น แน่นอนว่าผลสุดท้ายก็จะกลับมาที่ตัวสินค้าอย่างแน่นอน  

ดังนั้น ถ้าจะบริหารความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารภายในองค์การอาจจะต้องมองกว้างและมองไกลออกไปสู่ชีวิตของผู้บริหารที่อยู่ภายนอกองค์การ ผสมผสานกับกลยุทธ์การตลาด โดยการทำการตลาดกับครอบครัวของผู้บริหารที่มีความขัดแย้งกัน เช่น มีการนำสมาชิกของครอบครัวผู้บริหาร(ไม่ต้องให้ผู้บริหารเข้าร่วมก่อนในช่วงแรก)มาทำกิจกรรมร่วมกัน โอกาสที่สมาชิกหลังบ้านของผู้บริหารที่เป็นคู่กรณีกันจะทำความรู้จักสนิทสนมกันก็มีมากขึ้น ถ้าคิดว่าคู่สมรสอาจจะยากเพราะนอนฟังแฟนเล่าถึงคู่อริให้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะเลือกไปทำการตลาดที่ลูกของทั้งสองฝ่ายก่อนก็ได้ เพราะรับรองได้ว่าผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่คงจะยังไม่เล่าเรื่องคู่อริในที่ทำงานให้ลูกฟังอย่างแน่นอน เมื่อลูกใกล้ชิดกัน ต่อไปก็อาจจะดึงสมาชิกคนอื่นๆที่เหลือในครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน จนที่บ้านเป็นพวกเดียวกันแล้ว ค่อยวกกลับมาถึงคู่กรณีตัวจริงในภายหลัง  

สรุป ถึงแม้ว่าความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารในองค์การไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้  แต่เราสามารถบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้สร้างพลังไปในทิศทางที่ต้องการได้ สามารถควบคุมระดับของความขัดแย้งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ดังนั้น ผมเชื่อว่าจากแนวทางและตัวอย่างที่ได้เขียนมาทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงที่กำลังประสบปัญหาทีมงานผู้บริหารมีความขัดแย้งกันอยู่ เกิดแนวคิดและสามารถกำหนดแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารความขัดแย้งในองค์การของท่านได้บ้างนะครับ

เขียนโดย..ณรงค์วิทย์ แสนทอง
วิทยากร ที่ปรึกษา และนักเขียนอิสระ
www.peoplevalue.co.th