น้องฉัน..^^

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ลักษณะการบริหารของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง

เมื่อมองภาพรวมทางการบริหารของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง จะมีความคล้ายกันในหลายเรื่อง ซึ่งสามารถแยกเป็นสองลักษณะใหญ่ ดังนี้

ลักษณะแรก- การบริหารคน

การจ้างงาน มีลักษณะเป็นครั้งคราวแล้วแต่เจ้าของหรือผู้บริหาร มีทั้งที่จ้างเพราะความจำเป็นและไม่จำเป็น ไม่มีแผนการจ้างพนักงานที่แน่นอน การรับญาติพี่น้องคนใกล้ชิดเข้าทำงานมักจะเป็นเรื่องสามัญธรรมดา และบ่อยครั้งที่การรับคนเข้าทำงาน เพราะความเกรงอกเกรงใจเพื่อนฝูง ขณะเดียวกันเจ้าของหรือผู้บริหาร จะเกิดความภาคภูมิใจว่า ตนเองมีบุญมีคุณที่ทำให้คนอื่นมีงานทำ เมื่อพนักงานโต้แย้งหรือมีปฏิกริยา เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารประเภทนี้ จึงเจ็บปวดและมองว่าพนักงานเป็นผู้เนรคุณ
นอกจากไม่มีแผนงานที่แน่นอนในการจ้างงานแล้ว ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ อยากได้คนดีๆ แต่จ่ายเงินเดือนน้อยๆ ซึ่งในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว เป็นไปได้ยาก ดังนั้น คุณภาพของคนจึงเป็นไปตามสภาพของเงินเดือน
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเลื่อนตำแหน่ง ญาติพี่น้องหรือคนใกล้ขชิดมักจะได้รับการพิจารณาก่อนเป็นผลให้พนักงานมองไม่เห็นความก้าวหน้าของตน
มีคนโปรด ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การมีคนโปรดที่จะเรียกใช้ให้ทำงานได้ทุกเมื่อและทุกงาน คนโปรดเหล่านี้จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และมักจะได้ดิบได้ดี หรือดีเกินหน้า คนอื่นๆ ในองค์การ ทั้งๆ ที่งานที่อยู่ในความรับผิดชอบไม่ได้ทำหรือมีผลงานไม่มากเลยก็ตาม
นักธุรกิจรายหนึ่งซึ่งปัจจุบันเก็บเนื้อเก็บตัวหายไปจากวงการ เป็นคนชอบเล่นพระเครื่อง คนใกล้ชิดจึงทำหน้าที่ในการเสาะแสวงหาพระเครื่องจากกรุต่างๆ ให้ คนโปรดคนนั้นจึงได้เงินและรางวัลเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ต้องทำงานของตัวเองเลย
คนโปรดจึงเป็นตัวการทำลายขวัญและกำลังใจของพนักงานและบางครั้งคนโปรดคือผู้ที่คอยป้อนข่าวบ้าๆ บอๆ ต่างๆ ซึ่งมักเป็นข่าวที่คนโปรดอ้างว่าลับ เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารมักจะสนใจกับข่าวประเภทนี้ และมองไปว่าคนโปรดของตนเก่งมากในด้านการข่าว ผลจากความเชื่อนี้ทำให้พนักงานหนาวๆ ร้อนๆ และเจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร จะไม่ค่อยให้ความไว้วางใจใคร ( นอกจากเครือญาติ) ในองค์การ
การพัฒนาพนักงานเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น ความคิดที่จะให้พนักงานได้ความรู้หรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น เพื่อทำให้งานดีขี้นเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น เพราะกลัวว่าหากสอนให้เก่งแล้ว พนักงานจะลาออก ทางที่ดีให้รู้น้อยๆ เพื่อจะได้ทำงานไปนานๆ และจ่ายค่าจ้างถูกๆ

ลักษณะที่สอง- การบริหารงาน

เป็นยอดมนุษย์ (SUPERMAN)
ยาขอบกล่าวไว้ว่า “ แต่คนเรานั้น ถึงจะฉลาดปราดเปรื่องในกิจการต่างๆ สักเพียงใดก็ตาม แต่จะฉลาดปราดเปรื่องไปเสียทุกทางนั้นย่อมยากจะเป็นไปได้”
เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่จะเป็นผู้ลงมือดำเนินการเองในทุกๆ เรื่องพร้อมกันที่พยายามให้พนักงานคนอื่นๆ ทำงานให้ได้ผลงานมากๆ ด้วย
ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในการพิจารณาและดำเนินการเรื่องต่างๆ
ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเป็นเกณฑ์ ผลการพิจารณาที่ออกมาในแต่ละเรื่อง จึงไม่แน่นอน ผู้ปฏิบัติงานไม่เคยแน่ใจว่า ในแต่ละเรื่องควรดำเนินการอย่างไร พูดกันให้ชัดคือ การพิจารณาในทุกๆ เรื่องขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุด
ผูกขาดอำนาจ
เมื่อไม่มีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาแต่ละเรื่อง เรื่องราวต่างๆ จึงต้องนำเสนอเพื่อการพิจารณาอนุมัติ พนักงานทุกๆ ระดับเป็นเพียงผู้รอรับคำสั่ง ทำให้ขาดความคิดริเริ่ม ทำให้เจ้าของหรือผู้บริหารซึ่งเชื่อมั่นว่า ความคิดเห็นของตนถูกต้อง และมองว่าพนักงานส่วนใหญ่ไม่มีหัวคิด การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบมีน้อยหรือแทบจะไม่มี
สนใจแต่ผลงานและกำไร
ปริมาณงาน การควบคุมรายจ่าย การเพิ่มรายได้ หรือแสวงหากำไร เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสนใจในลำดับแรก ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทแห่งหนึ่ง สั่งให้ปิดไฟนีออนในห้องน้ำ เพียงเพราะว่าต้องการลดค่าใช้จ่าย
ด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกหรือความเป็นอยู่ของพนักงาน รวมทั้งสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน จึงมักเป็นเรื่องที่ถูกลืม และไม่สนใจ สวัสดิการพนักงาน “ พูดกันทีหลัง”
สวัสดิการต่างๆ เท่าที่มีอยู่ก็เพราะกฎหมายกำหนด หากพนักงานคนไหนที่คิดว่าสวัสดิการที่อื่นดีกว่า เจ้าของหรือผู้บริหารมักจะพูดว่า “ ก็ลาออกไปซิ” ระเบียบการต่างๆ ด้านสวัสดิการ พนักงานจะได้รับความสนใจเฉพาะในเรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
มีนายหลายคน
พนักงานแต่ละคนจะมีหลายนาย ทั้งนายโดยตรงและนายทางอ้อม การสั่งงานจะปนเปจนพนักงานไม่ทราบว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของนายคนใด
เจ้าอารมณ์
เนื่องจากเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารดำเนินงานทุกอย่างด้วยตนเอง จึงต้องพบกับปัญหาขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง โอกาสในการวางแผนงานจึงแทบจะไม่มี เวลาแต่ละวันจะหมดไปกับเรื่องจู้จี้จุกจิกอารมณ์ จึงมักจะพลุ่งพล่านหรือหงุดหงิดอยู่เสมอ ร้อยละ 90 ของผู้บริหารงานในลักษณะนี้จะไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาในระดับล่างๆ กล้าเข้าใกล้
จากลักษณะการบริหารงานข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่า เป็นความผิดพลาดในเรื่องของการบริหารคน
ดังนั้น หากจะสรุปว่า สถานประกอบการขนาดเล็กและกลางจำนวนไม่น้อยที่บริหารโดยเจ้าของกิจการคนเดียว ( หรือหลายๆ คนก็ตาม) มีปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล ก็เห็นจะไม่เกินเลยความจริงจนเกินไป


ที่มา: http://www.moodythai.com/new/article/HR/human_resource.htm#1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น